About Us

ประวัติวิทยาลัย

วิทยาลัยเทคโนโลยีเมืองชลพณิชยการ [รหัสสถานศึกษา ๑๑๒๐๑๐๐๑๐๕] ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งและ เปิดสอนอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยบริษัทโรงเรียนเมืองชลพณิชยการ จำกัด ซึ่งมีนายวิสิทธิ์ ภูมิภักดีพรรณ เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองความต้องการของชุมชนที่ขาดแคลน โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนทางด้านพาณิชยศาสตร์ของจังหวัดชลบุรีในขณะนั้น และเพื่อให้ผู้ที่จบการศึกษาสามารถนำวิชาความรู้จากสถานศึกษาไปประกอบอาชีพ รวมถึงสามารถศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น วิทยาลัยฯ ตั้งอยู่เลขที่ ๘๕๖ ข. ถนนเจตน์จำนง ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี รหัสไปรษณีย์ ๒๐๐๐๐ บนเนื้อที่กว่า ๔ ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของวัดใหม่พระยาทำ วิทยาลัยฯ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ การศึกษาจังหวัดชลบุรี เขต ๑ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมีอาคารเรียน ๓ หลัง เป็นอาคารคอนกรีตขนาด ๓ ชั้น ๑ หลัง อาคารคอนกรีตขนาด ๕ ชั้น ๑ หลัง อาคารคอนกรีตขนาด ๔ ชั้น ๑ หลัง สนามกีฬาหน้าวิทยาลัยฯ ๑ สนาม ห้องสมุด ๑ ห้อง ห้องฝึกปฏิบัติการพิมพ์ดีด ๒ ห้อง และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ๓ ห้อง ปัจจุบันมี ดร.สิทธิพงษ์ ภูมิภักดีพรรณ เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต และดร. พัชรี สร้อยสกุล เป็นผู้อำนวยการ

วิสัยทัศน์

วิทยาลัยเทคโนโลยีเมืองชลพณิชยการ เป็นสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพได้รับรองมาตรฐานการศึกษาระดับประเทศเน้นการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมนานาชาติ รวมทั้งปลูกฝังจิตสำนึกให้ผู้เรียนมีความตระหนักถึงความรู้ คุณธรรม และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เพื่อที่จะได้ไปประกอบอาชีพและพัฒนาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล

พันธกิจ

       1. จัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่นทันสมัยอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและชุมชนท้องถิ่น
       2. ส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้มีคุณธรรมมีศีลธรรมจรรยาที่ดีตลอดจนมีระเบียบวินัยที่ดีงาม
       3. จัดการศึกษาเพื่อชุมชน โดยจัดหลักสูตรระยะสั้น เพื่อเปิดโอกาสให้กับบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในการฝึกทักษะอาชีพหรือเพื่อการมีอาชีพ เป็นการส่งเสริมคุณภาพของชีวิตให้มีคุณค่าขึ้น
       4. พัฒนาผู้บริหารให้เป็นผู้นำที่มีศักยภาพสูง
       5. พัฒนาและส่งเสริมบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถและมีคุณธรรมเหมาะสมกับอาชีพครูรวมทั้งให้บุคลากรของวิทยาลัยฯมีความรู้ขั้นต่ำระดับปริญญาตรี และมีใบประกอบ วิชาชีพครู
       6. พัฒนาบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยในวิทยาลัยฯ
       7. พัฒนาการเรียนการสอนให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิภาพ
       8. จัดทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ตลอดหลักสูตร โดยคัดเลือกผู้ที่มีความตั้งใจจะศึกษาทางด้านวิชาชีพ มีผลการเรียนดีและมีความประพฤติดี
       9. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน นักเรียนที่จบหลักสูตรจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 มีเกรดเฉลี่ย 2.5 ขึ้นไป และสามารถไปศึกษาต่อหรือไปประกอบอาชีพมากกว่าร้อยละ 90 ของผู้จบการศึกษา
       10. สร้างความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาลัยฯ ผู้ปกครอง ชุมชน และองค์กรอื่น ๆ ในสังคม
       11. พัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมีคุณภาพ
       12. ส่งเสริมบุคลากรทุกประเด็นในการพัฒนาความรู้ ทักษะที่จำเป็นเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ปรัชญาวิทยาลัย

พาณิชย์เลิศ เทิดคุณธรรม นำวิชา พัฒนาสังคม

อัตลักษณ์

กิริยามั่นใจ ใส่ใจวัฒนธรรม
     กิริยามั่นใจ คือ มีความมั่นใจในความคิด การกระทำ
     ใส่ใจวัฒนธรรม คือ ร่วมกิจกรรมและให้ความสำคัญกับวัฒนธรรม

เอกลักษณ์

คนดีศรีเมืองชล

ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนบริเวณโรงเรียน

3.1 สภาพสังคมของชุมชน ตั้งอยู่ย่านธุรกิจการค้า ใกล้สถานที่ราชการในภาครัฐและเอกชน และใกล้กับสถานศึกษาระดับเดียวกัน มีความสะดวกในการคมนาคมเป็นอย่างยิ่ง มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นสังคมพาณิชยกรรม เพราะมีคนต่างถิ่นเข้ามาประกอบอาชีพ

3.2 สภาพเศรษฐกิจของชุมชน อาชีพส่วนใหญ่ในชุมชนค้าขาย สถาพเศรษฐกิจจึงมีเงินหมุนเวียน

3.3 ข้อมูลของผู้ปกครอง วุฒิการศึกษาส่วนใหญ่จบการศึกษาภาคบังคับ อาชีพรับจ้าง ฐานะอยู่ในระดับปานกลาง

การดำเนินงานในปัจจุบัน ระดับการศึกษา และสาขาวิชาที่เปิดสอน

วิทยาลัยเทคโนโลยีเมืองชลพณิชยการ มีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรอาชีวศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2567 และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2567

ระดับ ปวช. ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบัญชี ประเภทวิชาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ สาขาวิชาโลจิสติกส์ ประเภทวิชาศิลปกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาวิชาดิจิทัลกราฟิก และประเภทวิชาอุตสาหกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล จะต้องศึกษารายวิชาจากหมวดวิชาต่าง ๆ รวมไม่น้อยกว่า 100 หน่วยกิต และเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตร

ระดับ ปวส. ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบัญชี และสาขาวิชาการตลาด ประเภทวิชาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ประเภทวิชาศิลปกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาวิชาดิจิทัลกราฟิก และประเภทวิชาอุตสาหกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล จะต้องศึกษารายวิชาจากหมวดวิชาต่าง ๆ รวมไม่น้อย 80 หน่วยกิต และเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตร

ตราสัญลักษณ์

img

ผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต

img